กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เผย “โครงการส่งเสริมมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย” ปี 66 สร้างการประหยัดพลังงาน ไม่น้อยกว่า 20 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี คิดเป็นเงินค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ 81 ล้านบาทต่อปี
นายชำนาญ กายประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยหลังพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเกียรติบัตรรับรอง “โครงการส่งเสริมมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย” ว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเกียรติบัตรรับรองจากโครงการส่งเสริมมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย ซึ่งการส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงาน นับว่าเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สำคัญของกระทรวงพลังงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบหรือก่อสร้างบ้าน หรือผู้ที่ทำงานในวิชาชีพเกี่ยวข้อง หันมาสนใจให้ความสำคัญในการออกแบบหรือก่อสร้างบ้านเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของบ้านที่ได้มาตรฐานด้านพลังงานในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย รวมถึงเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัยในอนาคตได้อีกด้วย
โครงการส่งเสริมมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย ได้ดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 เพื่อรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการออกแบบหรือก่อสร้างบ้าน หรือผู้ที่ทำงานในวิชาชีพเกี่ยวข้อง รับรู้ และตระหนักถึงบ้านที่ได้มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พพ. ได้มีการดำเนินการสำรวจการใช้พลังงาน ในบ้านตัวอย่างกว่า 2,500 หลังทั่วประเทศ เพื่อศึกษาเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของบ้านอยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้มีหน่วยงาน บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบหรือก่อสร้างบ้าน หรือผู้ที่ทำงานในวิชาชีพเกี่ยวข้อง เช่น สถาปนิกหรือวิศวกรผู้ออกแบบ ได้ส่งผลงานเข้าประกวดแบบบ้านประหยัดพลังงาน จำนวน 160 แบบบ้าน แบ่งออกเป็น ขอรับรองแบบบ้าน จำนวน 94 แบบ และขอรับรองและประกวดแบบบ้าน 66 แบบ จากทั่วประเทศ โดยมีผู้ส่งผลงานที่ผ่านเกณฑ์ตามที่ พพ. กำหนด รวมทั้งสิ้น 105 แบบ แบ่งออกเป็น ผู้ขอรับรองแบบ ซึ่งจะได้รับเกียรติบัตรรับรองจาก พพ. จำนวน 67 แบบ และขอรับรองแบบบ้านและประกวดแบบบ้านประหยัดพลังงาน จะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเกียรติบัตรรับรอง จำนวน 38 แบบ
“จากการพิจารณาผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ ทำให้เห็นว่าแนวโน้มการออกแบบหรือการก่อสร้างบ้านอยู่อาศัยได้ให้ความสำคัญถึงการนำพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในบ้านอยู่อาศัยมากขึ้น มีการออกแบบบ้านเพื่อความสะดวกในการใช้งานของผู้สูงอายุ และการใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน เช่น การใช้อุปกรณ์ที่ได้ฉลากประหยัดพลังงานเบอร์ 5 ฉลากเขียว เป็นต้น โดยเกิดศักยภาพการประหยัดพลังงานไม่น้อยกว่า 20 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี คิดเป็นเงินค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ 81 ล้านบาทต่อปี หรือเทียบเท่า 1.77 พันตันน้ำมันดิบต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 10,200 ตันคาร์บอนต่อปี” นายชำนาญ กล่าว