สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)จับมือ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ถกปมลดปล่อยก๊าซคาร์บอนด้านการบินในระดับภูมิภาค เดินหน้าลดคาร์บอนตามเป้าหมายระยะยาว ย้ำไม่กระทบต้นทุนและค่าโดยสารและเกิดความคุ้มค่าในอนาคต
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา 2023 ICAO Environmental Regional Seminar for the APAC Region ว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย ส่งเสริมให้กิจการเดินทางในรูปแบบต่างๆ ทั้งถนน ราง น้ำ อากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะเรือนกระจก ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ให้ความร่วมมือองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ในการผลักดันร่วมกับประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมด้านการบินดำเนินกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ โดยมีมีมาตรการต่างๆ ที่รองรับผู้ประกอบการด้วย เพื่อเป็นการเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและความรู้ความเข้าใจระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการดำเนินการตามแนวทางลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามเป้าหมาย Long Term Aspirational Goal (LTAG) ที่ได้มีการรับรองในที่ประชุมสมัชชา ICAO ครั้งที่ 41 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 โดยครั้งนี้มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐระดับสูงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศต่างๆ ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมกว่า 200 คน โดยมีกรอบเป้าหมายใหญ่ที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งทำให้ประเทศสมาชิกต้องเร่งดำเนินการเพื่อเตรียมตัว
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 กพท.ได้เริ่มดำเนินการภายใต้โปรแกรมโครงการ Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) ของ ICAO ซึ่งให้สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ 8 สาย ได้แก่ การบินไทย,ไทยสมายล์,นกแอร์,ไทยแอร์เอเชีย,ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์,ไทยเวียตเจ็ท,ไทยไลอ้อนแอร์, เค-ไมล์ แอร์ รายงานข้อมูลปริมาณกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่น ปริมาณการน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น เพื่อมอนิเตอร์ และนำไปสู่การควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอากาศยาน ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 70 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการก่อนที่ICAO จะออกประกาศบังคับ เป็นการเตรียมความพร้อม เพราะต่อไป สายการบินที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดจะต้องจ่ายค่าชดเชย ขณะที่สายการบินที่ควบคุมหรือมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ดี จะได้รับเป็น”คาร์บอนเครดิต” ซึ่งมีมูลค่าและสามารถขายได้
“จากข้อมูลพบว่า ช่วงที่เครื่องบินใช้น้ำมันสิ้นเปลืองและปล่อยก๊าซมากคือ ช่วงทำการบินขึ้น ดังนั้น ช่วงแท็กซี่จากหลุมจอดไปยังรันเวย์ ปัจจุบัน จะใช้เครื่องยนต์เดียว จากเดิมที่ใช้เครื่องยนต์ทั้งหมด (2 เครื่องยนต์ /4 เครื่องยนต์) ซึ่งจะทำให้ลดการใช้น้ำมันลงได้25- 50% หรือช่วงเครื่องบินลดระดับเพื่อเตรียมลงจอด เดิมจะลดระดับแบบขั้นบันได ซึ่งจะมีการเร่งเครื่องหลายรอบ สิ้นเปลืองน้ำมัน ปรับเป็นการลดระดับต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องทำงานร่วมกับวิทยุการบินเพื่อจัดการจราจรในระดับเพดานบินให้สอดคล้อง ต้องฝึกบุคลากรและมีเครื่องมือเทคโนโลยีที่รองรับด้วย โดยรูปแบบนี้พบว่า ลดการใช้น้ำมันได้ 40% เป็นต้น”นายสุทธิพงษ์ กล่าว
การลดปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมสายการบิน อาจจะมีค่าใช้จ่ายในระยะแรก แต่ เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและเชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบที่ทำให้ต้องเพิ่มค่าโดยสาร แต่หากไม่มีการเตรียมความพร้อมต่อไป ICAO ประกาศเรื่องคาร์บอนเครดิตแล้วสายการบินทำไม่ได้ จะต้องจ่ายชดเชย นั่นคือต้นทุนเพิ่มที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการเริ่มลงทุนตั้งแต่ตอนนี้เพื่อควบคุมต้นทุนในอนาคตได้ดีซึ่งคุ้มค่ากว่า