Advertisement
Leaderboard 728x90

บีโอไอ ผลักดันอุตฯ PCB ครั้งใหญ่ ประเดิม “เวล เทค”เปิดสายผลิตรายแรก

บีโอไอ เดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) หลังคลื่นลงทุนลูกใหญ่ไหลเข้าไทยตั้งแต่ต้นปี 2566 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันรวมกว่า 90 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 1.6 แสนล้านบาท ดันไทยผู้นำอาเซียนโดยมี “เวล เทค อิเล็กทรอนิกส์” ผู้ผลิต PCB รายใหญ่จากจีนประเดิมเปิดสายการผลิตเป็นรายแรก หลังใช้เวลาก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ไม่ถึง 1 ปีตอกย้ำความคืบหน้าที่รวดเร็วของการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)เปิดเผยภายหลังจากการเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ของบริษัท เวล เทคอิเล็คทรอนิกส์ จำกัดที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่าตามที่ได้มีคลื่นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต PCB ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดได้เข้ามาลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยบริษัท เวล เทคอิเล็คทรอนิกส์หนึ่งในบริษัทรายใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Welgao Electronics ผู้ผลิต PCB ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศจีนเป็นรายแรกที่เริ่มเดินเครื่องผลิตในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาหลังจากได้ก่อสร้างโรงงานที่มีพื้นที่กว่า 64,000 ตารางเมตรรวมทั้งติดตั้งเครื่องจักรในเวลาไม่ถึง 1 ปี

Advertisement
Kreamy Proof

โรงงานของบริษัท เวล เทคอิเล็คทรอนิกส์ มีเงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 2,500 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์หลักจะเป็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ High-Density Interconnect (HDI) ชนิดหลายชั้น (Multilayer PCB) ซึ่งในเฟสแรกสามารถสร้างวงจรซ้อนกันได้สูงสุดถึง 30 ชั้นและบริษัทกำลังเตรียมแผนขยายโรงงานในเฟส2 ในพื้นที่ติดกันซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าเฟสแรกหลายเท่า และจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต PCB ไปถึงระดับ 50 ชั้น โดย Multilayer PCB จะใช้สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนสูงหรือมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากเช่น Data Server และ Power Supply ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (EV), Data Center และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยี AI โดยบริษัทจะจำหน่ายในประเทศร้อยละ 40 ให้กับลูกค้าในกลุ่ม EV และอิเล็กทรอนิกส์ และส่งออกร้อยละ 60 ไปยังประเทศต่าง ๆซึ่งคาดว่าจะใช้วัตถุดิบในประเทศกว่าร้อยละ 50

สาเหตุสำคัญที่กลุ่มเวล เทค ได้ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทยเพื่อเป็นฐานผลิตสำคัญแห่งแรก นอกประเทศจีนเนื่องจากมองเห็นศักยภาพและความพร้อมของไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานซัพพลายเชน ที่แข็งแกร่ง มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐและบุคลากรที่มีคุณภาพในการรองรับกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงโดยโรงงานผลิต PCB แห่งนี้ จะเป็น Smart Factory ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัยที่สุด ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี AI และระบบอัจฉริยะในการผลิตทุกขั้นตอน รวมทั้งการใช้หุ่นยนต์ AGV ในการเคลื่อนย้ายสินค้า โดยจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยในเฟสแรกกว่า 500 คนส่วนใหญ่เป็นวิศวกรและช่างเทคนิค ขณะที่มีผู้บริหารชาวจีนไม่เกิน 10 คนเท่านั้น นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งจะใช้นักวิจัยไทยกว่า 40 คน มาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีใน 5 สาขา ได้แก่การพัฒนาวัสดุขั้นสูง ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการผลิตการจัดการสิ่งแวดล้อม การพัฒนาซอฟต์แวร์และ AI อีกทั้งจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย 4 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและพระนครศรีอยุธยา ในการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน PCB ด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา (ปี 2566 – กันยายน 2567) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB จำนวน 95 โครงการมูลค่าเงินลงทุนรวม 162,000 ล้านบาทซึ่งมีทั้งการขยายการลงทุนของผู้ผลิตรายเดิม เช่น Mektec, KCE และการลงทุนใหม่โดยบริษัทผู้ผลิต PCB ระดับโลกโดยเฉพาะจากจีนและไต้หวันที่เข้ามาลงทุนจำนวนมาก เช่น Unimicron, Compeq, WUS, Gold Circuit, Chin Poon, Dynamic Electronics, Apex Circuit, Unitech เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานจะแล้วเสร็จพร้อมทยอยเปิดสายการผลิตตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไป


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard