บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กระทรวงคมนาคม พัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการจราจรทางอากาศ ตามแนวคิด Trajectory-Based Operation (TBO) และเข้าร่วมสาธิตการบิน Multi-Regional TBO ครั้งแรกของโลก เพื่อผลักดันการจัดการจราจรทางอากาศตามแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ที่มุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนและนานาชาติ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนและให้การสนับสนุนส่งเสริมความร่วมมือในการให้บริการจราจรทางอากาศในภูมิภาคอาเซียนและแปซิฟิก รวมทั้งตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย มีแนวคิดมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต พฤติกรรมการเดินทางของผู้คน รูปแบบในการทำธุรกิจ ความต้องการในการเดินทางอันเป็นผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัฒน์และบริบทการเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสามารถตอบสนองผู้ใช้บริกร มีความทันสมัย และรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยระบุประเด็นเรื่องการขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green and Safe Transport) ที่ได้ส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง การเพิ่มประสิทธิภาพ การปฏิบัติการบิน การใช้สนามบิน และการบริหารจราจรทางอากาศ
การจัดกิจกรรม AEROTHAI MR TBO Demonstration VIP Event (แอโรไทย มิสเตอร์ ทีบีโอ เดมอน สเตรชั่น วีไอพี อีเวนส์) ภายใต้การสาธิต Multi-Regional TBO Demonstration เป็นความร่วมมือระหว่าง ICAO และ บวท. มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาการบริหารจราจรทางอากาศให้มีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัย เพิ่มขีดความสามารถในการบิน ตลอดจนเป็นการปฏิบัติการที่มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การจัดให้มีการปฏิบัติการบินแบบ TBO เป็นเป้าหมายการพัฒนา การเดินอากาศของไทยตามที่ระบุไว้ในแผนแม่บทห้วงอากาศและการเดินอากาศแห่งชาติ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ICAO
Trajectory-Based Operation (TBO) เป็นแนวคิดในการจัดการจราจรทางอากาศรูปแบบใหม่ ที่เปลี่ยนจากการสื่อสารด้วยเสียง เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบดิจิตัลผ่านระบบอัตโนมัติ โดยหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศ (Air Navigation Service Providers: ANSPs) และสายการบิน จะวางแผนการบินร่วมกันตลอดเส้นทางบิน ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจด้วยระบบอัตโนมัติที่เชื่อมต่อกัน บวท. ได้พัฒนาระบบขึ้นเพื่อร่วมทดลองและสาธิตการบินตามแนวคิด TBO นี้ โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วม ได้แก่ องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA) สำนักงานการบินพลเรือนญี่ปุ่น (Japan Civil Aviation Bureau: JCAB) สำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์ (Civil Aviation Authority of Singapore: CAAS) และ Boeing โดยการสาธิตได้เริ่มทำการบินจากซีแอตเทิล ไปโตเกียว จากนั้นบินจากโตเกียวผ่านกรุงเทพฯ ไปลงที่สิงคโปร์ ต่อมาบินออกจากสิงคโปร์มาลงที่กรุงเทพฯ แล้วบินกลับซีแอตเทิล การสาธิตครั้งนี้เป็นการบินตามแนวคิด TBO ที่ครอบคลุมหลายภูมิภาคครั้งแรก และจะนำผลการสาธิตเสนอแก่ ICAO เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนำไปพัฒนาและใช้เป็นมาตรฐานสากล ทั้งด้านเทคนิคและด้านวิธีปฏิบัติ TBO เป็นเป้าหมายการพัฒนาตามแนวคิดการจัดการจราจรทางอากาศสากล (Global Air Traffic Management Operational Concept) ของ ICAO ซึ่งการเชื่อมต่อข้อมูลแบบอัตโนมัติระหว่างระบบการจัดการจราจรทางอากาศที่หน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศของแต่ละประเทศพัฒนาขึ้น จะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ช่วยทำให้การวางแผนและการจัดการจราจรทางอากาศมีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัว ทันท่วงทีมากขึ้น ยกระดับความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพในการทำการบิน ลดความล่าช้า ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable ATM) และพร้อมรองรับความหลากหลายของประเภทอากาศยาน รวมถึงปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น