Advertisement
Leaderboard 728x90

มกอช. ยกระดับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียนสดให้ได้มาตรฐาน เพิ่มมูลค่าการส่งออกทุเรียนไทย

ทุเรียน ถือว่าเป็น “ราชาผลไม้” ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสูง ตลาดการส่งออกทุเรียนไทยที่สำคัญ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือได้ว่าเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับหนึ่ง ในปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนสดมากถึง 1.4 ล้านตัน โดยไทยครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีน ร้อยละ 65.15 คิดเป็นปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดจากประเทศไทย 928,976 ตัน แม้ว่าปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดจากไทยไปจีนยังคงมีตัวเลขที่สูง แต่หนึ่งปัญหาที่พบบ่อยครั้ง นั่นคือการเร่งตัดทุเรียนเพื่อการบริโภคสดก่อนถึงอายุเก็บเกี่ยว ทำให้มีทุเรียนอ่อนและด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในวงกว้าง รวมไปถึงมีผลกระทบต่อสภาวะการค้าทุเรียนไทยในภาพรวม

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ประกาศ มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักการปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ.9070-2566) เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการส่งออกทุเรียนของไทยในการการควบคุมการคัดเลือกทุเรียนให้ได้ผลทุเรียนที่แก่ มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกทุเรียนของไทย นอกจากนี้ การควบคุมขั้นตอนการตัดผลทุเรียนสด การคัดเลือก รวมไปถึงการบรรจุทุเรียนของไทยให้มีมาตรฐาน จะช่วยให้ทุเรียนที่ออกจำหน่าย รวมไปถึงการส่งออกนั้นมีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ส่งผลต่อความนิยมทุเรียนของประเทศไทยให้อยู่ในระดับต้น ๆ ของโลก

Advertisement
Kreamy Proof

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2566 มกอช. ได้จัดเตรียมความพร้อมในการสร้างองค์ความรู้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงงานและโรงคัดบรรจุ (มกษ.9070-2566) ให้ผู้เกี่ยวข้องในขอบข่ายของมาตรฐานดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้ผลิต คือ โรงรวบรวมหรือโรงคัดบรรจุ ผู้ส่งออก คือผู้ส่งออกทุเรียนผลสดที่ใช้สินค้าจากผู้ผลิตอื่น และ ผู้นำเข้า คือ ผู้นำเข้าทุเรียนผลสด รวมไปถึงผู้ที่สนใจ โดยการสร้างองค์ความรู้ทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online รวมถึงยังมีการเรียนรู้ตามมาตรฐานผ่านระบบ E-Learning รวมไปถึงการจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน เพื่อให้สถานประกอบการ (ล้งทุเรียน) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน อีกทั้งยังมีการเตรียมความพร้อมโดยพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ตามมาตรฐานให้แก่เจ้าหน้าที่จากหน่วยรับรองที่เกี่ยวข้องพร้อมกับประชาสัมพันธ์มาตรฐานสินค้าเกษตรดังกล่าวผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ มกอช.

สำหรับมาตรฐานสินค้าเกษตรดังกล่าว มีขอบข่ายในการกำหนดหลักปฏิบัติในขั้นตอนการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ เพื่อให้ได้ผลทุเรียนที่เป็นผลแก่ ตามข้อกำหนดของมาตรฐานสำหรับจำหน่าย ส่งออกและนำเข้า ซึ่งหลักการปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนตามมาตรฐานดังกล่าวแบ่งรายละเอียดหลักๆ เป็น 3 ส่วน ดังนี้

  1. การตรวจและรับผลทุเรียน :ผู้ประกอบการโรงรวบรวมหรือโรงคัดบรรจุ ต้องมีมาตรการการตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียนก่อนรับเข้าสู่กระบวนการจัดการ มีการตรวจหลักฐานแสดงการจัดการของแหล่งปลูกของผลทุเรียนทุกรุ่นที่จะรับเข้าสู่กระบวนการจัดการ การตรวจลักษณะภายนอกของผลทุเรียนแก่ทุกผลจากทุกรุ่นรวมไปถึงการสุ่มตรวจวิเคราะห์น้ำหนักแห้งของทุเรียน อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนรุ่นที่จะรับเข้าต่อวัน
  2. การฝึกอบรม:ผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง อันประกอบด้วย ผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยว ต้องได้รับการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบจากโรงรวบรวมหรือโรงคัดบรรจุ หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่ภาครัฐให้ความเห็นชอบ ผู้ตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน ต้องได้รับการฝึกอบรมจากภาครัฐหรือภาครัฐให้ความเห็นชอบ และมีหลักฐานการผ่านทดสอบ และ ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจและรับผลทุเรียนในแต่ละรุ่นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ต้องได้รับการฝึกอบรมหรือสอนงาน รวมไปถึงการประเมินผลอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี
  3. การบันทึกข้อมูลเพื่อการตามสอบ:โรงรวมรวบและโรงคัดบรรจุผลทุเรียนสดต้องทำการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจและรับผลทุเรียนในแต่ละรุ่น และเก็บรักษาบันทึกข้อมูล อย่างน้อย 2 ปี
    เพื่อการตามสอบได้

ในปี 2567 นี้ มกอช. ยังได้วางแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ หลักการปฏิบัติตามมาตรฐาน มกษ.9070-2566 ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในขอบข่ายตามมาตรฐานดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับการผลิต การนำเข้า การส่งออกของทุเรียนไทยให้เกิดความเข้มแข็งและเติบโตไปอย่างยั่งยืน รวมไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยที่ดียิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard