
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี), สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ เปิดตัวโครงการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2568 ภารกิจสำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายและวางแผนอนาคตของประเทศไทย โดยครั้งนี้จะมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้หลากหลายรูปแบบ ผนึกกำลังกับเครือข่าย “พี่ไปรฯ” ที่มีความคุ้นเคยกับคนไทยทั่วประเทศ
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า การสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะในปีนี้ จะมีความแม่นยำและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ด้วยการผสานรูปแบบการสำรวจที่หลากหลาย ทั้งการสำรวจผ่านระบบดิจิทัล (Digital Census), การส่งข้อความ SMS และที่สำคัญคือ การใช้เครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ ภายใต้โครงการ ‘Postman Cloud’ เพื่อเข้าถึงกลุ่มประชากรที่ไม่สะดวกในการตอบแบบสอบถามผ่านช่องทางดิจิทัล
“รัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน จะช่วยให้การสำรวจครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ประเสริฐ กล่าว
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย พร้อมสนองนโยบายรัฐบาลและกระทรวง ดศ. ในการดำเนินโครงการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2568 โดยไปรษณีย์ไทยจะมีบทบาทในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล ด้วยการเก็บแบบสอบถามจากประชาชนที่ไม่สะดวกตอบ ด้วยตนเองผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนตามหลักการและแนวคิดของการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ ผ่าน “Postman Cloud” เครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ หรือพี่ไปรฯ ที่มีความชำนาญและเข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในครั้งนี้ไปรษณีย์ไทยจะดำเนินการสำรวจข้อมูลประชากรในพื้นที่จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด เชียงใหม่นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสงขลา ซึ่งมีข้อมูลประมาณ 4 ล้านครัวเรือน คาดว่าจะเริ่มดำเนินงานภายใน เดือนเมษายน 2568 นี้
“นอกจากการลงพื้นที่สำรวจแล้ว ไปรษณีย์ไทยยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ถึงความสำคัญและประโยชน์ของโครงการสำรวจสำมะโนประชากรฯ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและวางแผนการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งด้านโครงสร้างประชากร, เศรษฐกิจ และสังคม” ดร.ดนันท์ กล่าว
การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และความชำนาญให้กับบุคลากรของไปรษณีย์ไทย ในด้านการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรในอนาคต